cultivation in thailand

 


การเพาะปลูกของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย
ภาคกลาง ภาคกลางนั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่มและมีแหล่งน้ำเพียงพอ การเลือกปลูกพืชสำหรับภาคกลางจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากให้เลือกชนิดพืชที่เหมาะสมที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นข้าว ในประเทศไทยนั้นมีพื้นที่กว่า 32 ล้านไร่ที่เป็นพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว นอกเหนือจากนั้นยังเหมาะกับการปลูกอ้อยและข้าวโพดอีกด้วย

ภาคเหนือ ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยภูเขา แต่ก็ยังเป็นพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวได้อย่างดี โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้ภาคเหนือมีความพิเศษคือสภาพอากาศหนาวเย็น เปิดโอกาสให้เกษตรกรภาคเหนือได้ปลูกพืชเมืองหนาว ซึ่งหาไม่ได้จากเมืองร้อนอย่างไทย เช่นสตรอเบอรี่ บ๊วย พลับ กีวี่ พีช เสาวรส และผักเมืองหนาว เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคที่ขึ้นชื่อเรื่องสภาพพื้นที่อันโหดร้าย เพราะความแล้งจัดและความเค็มของดินจึงทำให้ยากต่อการเลือกปลูกพืชสำหรับภาคอีสาน เพราะเสี่ยงภัยแล้งจัดและดินมีความอุดมสมบูรณ์ค่องข้างต่ำกว่าที่อื่น แต่เป็นแหล่งชั้นดีของการปลูกข้าวขึ้นชื่ออย่างข้าวหอมมะลิ นอกเหนือจากข้าวแล้วยังมีอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด มะพร้าว และลำไย ซึ่งพืชเหล่านี้ถือว่ามีความเหมาะสมระดับปานกลางที่จะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การแก้ปัญหาดินเค็มนั้นใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงและยาก ยิ่งสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อาจจะยิ่งซ้ำปัญหาดินเค็มมากกว่าเดิม แต่เกษตรกรสามารถทดลองปลูกพืชทนเค็ม จำพวกพุทรา มะขาม หน่อไม้ฝรั่ง ละมุด เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งได้

ภาคตะวันออก หากพูดถึงภาคตะวันออก หนึ่งในจังหวัดที่นิยมปลูกไม้ผลที่สุดคงไม่พ้นจังหวัดจันทบุรีและระยอง ที่มีชื่อเสียงจากทุเรียน เนื่องจากเป็นภาคที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นและฝนตกชุก ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกไม้ผลเป็นอย่างยิ่ง แต่นอกเหนือจากทุเรียนแล้ว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด และยางพาราก็เหมาะสมที่จะปลูกในภาคตะวันออกเช่นกัน

ภาคใต้ ด้วยสภาพพื้นที่ยื่นออกไปในทะเลอันดามันและอ่าวไทย ภาคใต้จึงเป็นภูมิภาคที่มีฝนตกชุกมากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งสภาพอากาศโดยรวมคือร้อนชื้น คล้ายคลึงกับภาคตะวันออกเป็นอย่างมาก จึงทำให้เป็นพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกไม้ผลและพืชไร่หลายชนิด แต่หนึ่งในพืชที่เหมาะสมโดดเด่นที่สุดในภาคใต้คงหนีไม่พ้นปาล์มน้ำมัน ยางพารา และเงาะ ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปถึงนราธิวาส ทว่านอกเหนือจากพืชสองชนิดนี้แล้ว กาแฟโรบัสต้าเองก็มีความเหมาะสมปานกลางที่จะปลูกในภาคใต้อีกด้วย

พืชเศรษฐกิจของไทย
ด้วยพื้นที่ของประเทศไทยมีความเหมาะสมในด้านการเกษตรจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “พืช” คือสิ่งที่ทำให้คนไทยมีอาหารเลี้ยงปากท้องและยังสร้างรายได้กับครัวเรือน ต่อยอดไปจนถึงการสร้างรายได้ให้ประเทศจนกลายเป็น “พืชเศรษฐกิจ” ที่เกษตรกรจำนวนมากยึดถือเป็นอาชีพ จึงอยากนำเสนอให้กับผู้ที่สนใจหรือคนที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อโอกาสในการสร้างประโยชน์ต่อตัวเองและประเทศชาติต่อไปในอนาคต

1.ข้าว
ข้าว คือ อาหารหลักของคนไทยและผู้คนอีกจำนวนมาก จึงต้องยอมรับว่ายังคงเป็นพืชเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับความต้องการจากประเทศคู่ค้ามหาศาลในแต่ละปี โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวที่ถูกยกย่องว่าดีสุดของโลกอย่าง “ข้าวหอมมะลิ” ด้วยรสสัมผัสอันเนียนนุ่ม บวกกับรสชาติที่มีความหวานในตัว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครที่ได้ทานต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อย ซึ่งจริง ๆ แล้วข้าวอันถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของเมืองไทยนั้นไม่ได้มีแค่ข้าวหอมมะลิเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วย เช่น ข้าวเหนียว, ข้าวหอม, ข้าวขาวพื้นแข็ง เป็นต้น ซึ่งพันธุ์ข่าวที่ถูกส่งออกมากที่สุดได้แก่ ข้าวขาวพื้นแข็ง คิดเป็นเกือบ 50% ของข้าวพันธุ์อื่น ๆ โดยกลุ่มประเทศที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ในการส่งออกข้าวของประเทศไทยคือ จีน และสหรัฐฯ แม้ในปัจจุบันจะมีคู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนามที่ส่งออกข้าวได้มากกว่า แต่ด้วยคุณภาพจึงต้องยอมรับในด้านของความพึงพอใจที่ผู้บริโภคมีนั้น ข้าวของประเทศไทยยังคงเป็นที่ชื่นชอบ

2.ยางพารา
ปัจจุบันการน้ำยางยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพื่อนำไปทำสิ่งต่าง ๆ ให้มนุษย์ได้ใช้งานมากมาย อาทิ ยางรถยนต์, ส่วนผสมในการทำยางมะตอยเทพื้น, ยางกันรั่วซึม, ถุงยางอนามัย และอื่น ๆ อีกมาก ผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยนั้นมีการส่งออกทั้งแบบน้ำยางดิบและผ่านการแปรรูปมาแล้ว จึงส่งผลถึงการสร้างรายได้ที่หลากหลาย ในอดีตการปลูกยางมักปลูกกันแถบภาคใต้ ทว่าปัจจุบันได้มีการพัฒนาและปรับพื้นที่ในภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการปลูกยางพารากันมากขึ้น สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากตามไปด้วย การที่ยางพาราถูกจัดให้เป็นพืชเศรษฐกิจลำดับที่ 2 ต่อจากข้าว เพราะ ประเทศไทยยังคงถูกยกให้เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกมาร่วม 30 ปี โดยคิดเป็นเกือบ ๆ 30% ของยางพาราทั้งหมดที่ใช้งานกันในทุกประเทศ

3.อ้อย
พืชเศรษฐกิจในปัจจุบันที่กำลังมีความต้องการสูงมาก ๆ ในต่างประเทศ ซึ่งการส่งออกอ้อยนั้นไม่ได้หมายถึงการส่งออกไปแบบสด ๆ เพียงอย่างเดียว แต่มีการนำไปแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายเพื่อใช้ปรุงอาหาร รวมถึงมีการนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนต่าง ๆ (น้ำตาลทรายจะถูกส่งออกมากที่สุด)

4.มันสำปะหลัง
พืชอีกชนิดที่ถูกยกให้เป็นผลิตภัณฑ์สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยมากในลำดับต้น ๆ ปกติแล้วมันสำปะหลังจะไม่ได้ถูกนำไปใช้ประกอบอาหารของคน แต่จะถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เนื่องจากมีคุณค่าโภชนาการสูง อีกทั้งยังมีการนำไปแปรรูปเพิ่มเติมกลิ่นให้กับอาหารมีความน่าทานมากขึ้น, ผลิตเป็นน้ำมันเอทานอลเพื่อใช้งานแทนที่พลังงานจากน้ำมันดิบ นั่นส่งผลให้พืชเศรษฐกิจตัวนี้มีความต้องการในตลาดโลกสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ

5.ปาล์มน้ำมัน
การส่งออกของพืชชนิดนี้จะผ่านการแปรรูปให้กลายเป็นน้ำมันปาล์มเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกเป็นอย่างดี ซึ่งทางภาครัฐเองให้ความสำคัญกับผลผลิตชนิดนี้พอสมควร เนื่องจากเมื่อเกษตรกรจำนวนมากเลือกปลูก พอผ่านการแปรรูปแล้วปรากฏว่าของล้นตลาดจนต้องเร่งระบายออกไม่ให้ราคาตกมากเกินไปนัก ซึ่งถ้ามองในมุมของเกษตรกร เมื่อเกิดความต้องการเยอะ ผลผลิตของพวกเขาก็ขายได้รวดเร็วมากขึ้น มีราคาดีกว่าการปล่อยเอาไว้ให้ราคาตก

พืชเศรษฐกิจ มีกี่ประเภท

1.พืชไร่ เป็นประเภทของพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ ของเมืองไทย เพราะจากทั้ง 5 ชนิดที่กล่าวมาก่อนหน้าล้วนเป็นพืชไร่ทั้งสิ้น จุดเด่นของพืชเศรษฐกิจประเภทนี้คือ ดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องมีขั้นตอนใด ๆ เพื่อป้องกันการเสียหายมากนัก ปลูกได้ดีในพื้นที่ลุ่มดอน มีน้ำเข้าถึงง่าย

2.พืชสวน เป็นประเภทของพืชเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย ไม่จำกัดพื้นที่ว่าจะมีขนาดเท่าไหร่ สามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้หลากหลาย ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น กลุ่มพืชผัก กลุ่มพืชผล และกลุ่มไม้ดอก

3.ไม้เศรษฐกิจ ในปัจจุบันกลุ่มนี้ถือว่าต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อไม่เกิดปัญหาเรื่องการบุกรุกป่า หรือการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งบรรดาไม้เศรษฐกิจที่ยังได้รับความนิยม เช่น ไม้ยางพารา, ไม้เต็ง, ไม้รัง, ไม้มะฮอกกานี, ไม้ไผ่, ไม้ยูคาลิปตัส รวมถึงการถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

แหล่งที่มา: สวก.

 

Comments